ทะเบียนเกษตรกรคืออะไร? และ ทำไมต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร?

 


ทะเบียนเกษตรกรคืออะไร?  และ ทำไมต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร?

          1.  การขึ้นทะเบียนเกษตรกรเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยวัตถุประสงค์ของการขึ้นทะเบียนเกษตรกรก็เพื่อจัดทำข้อมูลการเกษตรให้ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง และเป็นข้อมูลเอกภาพให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ข้อมูลที่ได้จะนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาการเกษตร กำหนดนโยบาย การจัดการด้านการผลิตการตลาด การส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงเป้าหมาย และเพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการจำแนกเกษตรกรเป็นกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินโครงการหรือมาตรการต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน และที่สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับพี่น้องเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้แล้ว จะได้รับความสะดวกในการใช้สิทธิขอรับการสนับสนุน ช่วยเหลือ หรือรับบริการต่าง ๆ จากภาครัฐ เช่น กรณีการขอรับการช่วยเหลือเมื่อประสบภัยพิบัติต่าง ๆ

          2.  เกษตรกรสามารถขอขึ้นทะเบียนได้ตามสถานที่ที่เป็นภูมิลำเนาในทะเบียนบ้าน หรือสถานที่ที่ประกอบการเกษตรก็ได้ แต่ต้องขึ้นทะเบียนที่ใดที่หนึ่งเพียงที่เดียว โดยในการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรจะจำแนกเกษตรกรเป็น 2 ประเภท ตามลักษณะการประกอบการเกษตร คือ ส่วนบุคคล และนิติบุคคล ซึ่งหลักฐานที่ต้องใช้ในการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกร  คือ

                    2.1 การขึ้นทะเบียนเกษตรกรประเภทส่วนบุคคล หรือเกษตรกรทั่วไป หลักฐานที่ต้องใช้ คือ       

                              1) บัตรประจำตัวประชาชน

                              2) ทะเบียนบ้านของผู้ขอขึ้นทะเบียนเกษตรกร

                              3) หลักฐานการถือครองที่ดิน

                    2.2 การขึ้นทะเบียนเกษตรกรประเภทนิติบุคคลหลักฐานที่ต้องใช้ คือ

                              1) บัตรประจำตัวประชาชน

                              2) ทะเบียนบ้านของผู้แทนนิติบุคคล

                              3) หนังสือรับรองนิติบุคคล

                              4) หนังสือมอบอำนาจให้เป็นผู้แทนนิติบุคคล

                              5) หลักฐานการถือครองที่ดิน

          3.  สถานที่รับขึ้นทะเบียนเกษตรกร ณ สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ หรือสถานที่ที่เจ้าหน้าที่นัดหมาย

           4.  การปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร คือ?

                    การแจ้งปลูกพืชทุกรอบการผลิต และการเปลี่ยนแปลงข้อมูลครัวเรือนผู้ประกอบการเกษตร เช่น เปลี่ยน / แก้ไข กิจกรรมการเกษตร หรือสมาชิกในครัวเรือน

           5.  หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนเกษตรกร

                    บุคคลในครัวเรือนคนใดคนหนึ่ง หรือหลายคนที่ประกอบการเกษตร ฐานทะเบียนเกษตรกรกำหนดให้ 1 ทะเบียนบ้าน = 1 ครัวเรือน (ตั้งแต่ ต.ค.56 เป็นต้นมา) ต้องประกอบกิจกรรม ดังนี้

                    -  การทํานาหรือทําไร่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือ รวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป

                    -  การปลูกผัก หรือการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ หรือการเพาะเห็ด หรือการปลูกพืชอาหารสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 งานขึ้นไป

                    -  การปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น หรือการปลูกสวนป่า หรือปลูกป่าเศรษฐกิจแบบสวนเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ และมีจํานวนต้นตั้งแต่ 15 ต้นขึ้นไป

                    -  การปลูกไม้ผล หรือไม้ยืนต้นแบบสวนผสม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ และมีจํานวนต้นตั้งแต่ 15 ต้นขึ้นไป

                    -  การเลี้ยงแม่โคนม ตั้งแต่ 1 ตัวขึ้นไป

                    -  การเลี้ยงโค หรือกระบือ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป

                    -  การเลี้ยงสุกร แพะ หรือแกะ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ตั้งแต่ 5 ตัวขึ้นไป

                    -  การเลี้ยงสัตว์ปีก ตั้งแต่ 50 ตัวขึ้นไป

                    -  การเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ํา อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน

                    -  การทํานาเกลือสมุทร บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป

                    -  การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน

                    -  การเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจและเกษตรอื่นๆ หมายความว่า การเลี้ยงผึ้งพันธุ์ผึ้งโพรง ชันโรง ครั่ง จิ้งหรีด ด้วงสาคูไส้เดือนดิน ชีวภัณฑ์และอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกันประกอบการเกษตร อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ที่กําหนดตามและมีรายได้ตั้งแต่ 8,000 ต่อปีขึ้นไป

          6.  ทะเบียนเกษตรกรมีข้อมูลอะไรบ้าง?

                    ทะเบียนเกษตรกรมีข้อมูล 9 หมวด ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐานครัวเรือน สมาชิกครัวเรือนและการเป็นสมาชิกองค์กร การถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร การประกอบกิจกรรมการเกษตร แหล่งน้ำ เครื่องจักรกลการเกษตร หนี้สิน รายได้ และการเข้าร่วมโครงการภาครัฐ

           7.  การขึ้นทะเบียนเกษตรกร

                    ครัวเรือนเกษตรกร 1 ครัวเรือน ขอขึ้นทะเบียนได้ 1 คน โดยต้องยื่นแบบ ทบก. 01 ณ สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูก หลังปลูกพืช 15 วัน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะบันทึกข้อมูล ดำเนินการตรวจสอบข้อมูล และติดประกาศในชุมชน 3 วัน และขั้นตอนต่อไปเจ้าหน้าที่จะยืนยันข้อมูลในระบบ เท่ากับการขึ้นทะเบียนเกษตรกรจะเสร็จสมบูรณ์

          8.  การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเกษตรกร

                    ตรวจสอบข้อมูลบุคคล กับกระทรวงมหาดไทย

                    ตรวจสอบข้อมูลเอกสารสิทธิ์ที่ดิน กับกรมที่ดิน และ สปก.

                    ตรวจสอบทางสังคมผ่านการติดประกาศข้อมูลในชุมชน หากมีการคัดค้าน มีคณะทำงานระดับหมู่บ้านตรวจสอบพื้นที่วัดพิกัดที่ตั้งแปลง-วัดพื้นที่วาดผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัล เพื่อป้องกันการขึ้นทะเบียนซ้ำซ้อน (ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 10 ล้านแปลง)

          9.  เมื่อใดต้องปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร

                    เมื่อมีการเพาะปลูกพืชทุกรอบ และเมื่อต้องการเปลี่ยนข้อมูลของครัวเรือนผู้ประกอบการเกษตร จะต้องมีการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ทั้งนี้หากเป็นเกษตรกรายใหม่ แปลงใหม่ หรือรายเดิม แปลงใหม่ ต้องยื่นแบบ ทบก.01 ณ สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูก หลังปลูกพืช 15 วัน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะบันทึกข้อมูล ดำเนินการตรวจสอบข้อมูล และติดประกาศในชุมชน 3 วัน และขั้นตอนต่อไปเจ้าหน้าที่จะยืนยันข้อมูลในระบบ เท่ากับการขึ้นทะเบียนเกษตรกรจะเสร็จสมบูรณ์สำหรับเกษตรกรรายเดิม แปลงเดิม สามารถปรับปรุงผ่านแอพพลิเคชัน Farmbook ได้เลย

           10.  การสิ้นสุดสถานภาพในทะเบียนเกษตรกร

                    -  เสียชีวิต

                    -  เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ

                    -  แจ้งยกเลิกประกอบการเกษตร

                    -  แจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จในการขึ้นทะเบียนเกษตรกร

                    -  ไม่มีการปรับปรุงสถานภาพเลย ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี (เริ่มใช้ตั้งแต่ 23 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป และมีผลย้อนหลังสำหรับผู้ไม่มาปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ตั้งแต่ 23 มิถุนายน 2560)

 

 อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นหากไม่แน่ใจว่ามีการขึ้นเบียนเกษตรกรไว้หรือไม่ หรือมีการปรุงปรุงบัญชีเกษตรกรแล้วหรือยัง สามารถเข้าไปการตรวจสอบสถานะความเป็นเกษตรกรและสมาชิกครัวเรือน ได้ที่เว็บไซต์ http://farmer.doae.go.th เพียงใส่หมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก

 

ใหม่กว่า เก่ากว่า

نموذج الاتصال