ปลาหมอ และการเลี้ยงปลาหมอ


ปลาหมอไทย เป็นปลาที่มีรสมัน เนื้อแน่น นุ่ม ก้างน้อย สามารถประกอบอาหารหรือแปรรูปได้หลากหลาย ทั้งต้มยำ แกง ย่าง ทอด ทำปลาร้า ปลาเค็ม ปลาตากแห้ง และอื่นๆ ปัจจุบันเป็นที่ต้องการของตลาด และนิยมบริโภคกันมาก ทั้งในประเทศ และการส่งออก

ปลาหมอไทยเป็นปลาที่มีความทนในสภาพที่มีน้ำน้อยหรือขาดน้ำ จึงสามารถขนส่ง และจำหน่ายในรูปปลาสดที่มีชีวิตในระยะทางไกลๆได้ เป็นปลาที่ต้องการทางตลาดทั้งภายใน และต่างประเทศสูงในแต่ละปี (จีน ไต้หวัน เกาหลี มาเลเซีย และประเทศแถบตะวันออกกลาง) โดยเฉพาะปลาหมอที่มีขนาดใหญ่ (3-5 ตัว/กิโลกรัม) ราคาจำหน่ายในประเทศ กิโลกรัมละ 100-150 บาท ขึ้นอยู่กับพื้นที่ และฤดูกาล ซึ่งปัจจุบันมีผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการทั้งใน และต่างประเทศ

ปลาหมอไทย (Climbing Perch, Anabastestudineus, Bloch) เป็นปลาน้ำจืดพื้นบ้านของไทยที่นิยมบริโภคกันทั่วทุกภาค มีชื่อเรียกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เช่น ภาคเหนือ และอีสาน เรียกว่า ปลาเข็ง ภาคใต้ เรียกว่า อีแกปูยู

ปลาหมอ

ปลาหมอไทยสามารถพบได้ในแม่น้ำ หนอง บึง และแหล่งน้ำทั่วไป เป็นปลาที่มีความทนต่อปริมาณที่มีน้ำน้อยๆ หรือขาดร้ำได้เป็นเวลานานกว่าปลาชนิดอื่นๆ ปลาหมอหนึ่งตัวสามารถแพร่พันธุ์ และวางไข่ได้จำนวนมาก เป็นปลากินพืช และกินเนื้อที่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่เดือน สามารถปรับตัวให้กับสภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำกร่อย หรือน้ำเค็มได้อย่างดี เกษตรกรจึงหันมาเลี้ยงปลาหมอไทยเพิ่มมากขึ้น เพราะสามารถเลี้ยงได้ในอ่างเก็บน้ำ นาข้าว และเลี้ยงผสมรวมกับปลาชนิดอื่นได้ดี

ปลาหมอ เป็นปลาที่สามารถปีนป่ายขึ้นบนบกเพื่ออพยพหาแหล่งน้ำได้ โดยเฉพาะในช่วงฝนตกในต้นฤดูฝน ทำให้มีการแพร่กระจายตัวแหล่งน้ำในทุกแห่งได้อย่างรวดเร็ว การปีนป่ายบนบกตามพื้นดินของปลาหมอจะใช้ส่วนล่างของกระดูกกระพุ้งแก้ม รวมถึงแผ่นเหงือกช่วยเกาะปีนไปข้างหน้าตามพื้นดินหรือบางครั้งจะใช้ลำตัวไถลไปตามพื้นที่ชื้นแฉะของดิน

อนุกรมวิธานปลาหมอไทย
Phylum : Chordata
Class : Pisces
Subclass : Teleostmi
Order : Labyrinthici
Family : Anabantide
Genus : Anabas
Species : testudineus

ลักษณะปลาหมอไทย
ปลาหมอมีอวัยวะช่วยหายใจ (labryrinth organ) ในช่องเหงือกใต้ลูกตา ประกอบด้วยแผ่นกระดูกบาง (lamellae) จำนวนมากเรียงซ้อนกัน และถูกห่อหุ้มด้วยผนังบางๆที่มีเส้นเลือดฝอยจำนวนมาก แผ่นนี้จะช่วยดูดซับออกซิเจนในอากาศ และผ่านเข้าสู่เส้นเลือดฝอยเมื่อโผล่ขึ้นมาฮุบอากาศเหนือผิวน้ำ

ปลาหมอไทยมีลักษณะลำตัวค่อนข้างแบน ปกคลุมด้วยเกล็ดแข็งแบบ ctenoid สีน้ำตาลหรือเหลืองปนดำหรือเขียวปนดำ และมีมีสีเหล่านี้ปะปนกันทั้งลำตัว เกล็ดบริเวณใกล้ท้องมีสีจางกว่าส่วนหลัง ลำตัวยาวประมาณสามเท่าของความกว้างลำตัว บริเวณสันหลังมีครีบหลังที่แข็ง 17-18 ก้าน และก้านครีบอ่อนส่วนท้ายสันหลัง 9-10 ก้าน ครีบก้นส่วนต้นมีก้านครีบแข็ง 9-10 ก้าน และก้านครีบอ่อนส่วนท้าย 10-11 ก้าน ครีบท้องถัดจากครีบก้นขึ้นไปทางด้านหัวมีก้านครีบแข็ง 2 ก้าน และก้านครีบอ่อน 5 ก้าน ส่วนครีบอกที่อยู่เหนือครีบท้องมีก้านครีบอ่อน 15 ก้าน



ตำแหน่งของครีบหลัง ครีบอก ครีบท้องอยู่ในแนวเดียวกัน เส้นข้างตัวแบ่งขาดเป็น 2 ตอน กระดูกกระพุ่งแก้มงอพับได้ ส่วนปลายมีลักษณะเป็นหนามแหลมคม และส่วนล่างกระดูกกระพุ้งแก้มแยกเป็นกระดูกแข็งสำหรับปีนป่าย เรียกว่า ichy feet หรือเกาะกับพื้นเพื่อเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ครีบหางมีลักษณะกลม มนเล็กน้อย บริเวณโคนหางมีจุดสีดำกลม หรืออาจไม่มีก็ได้ ปากอยู่สุดของส่วนหัว มีลักษณะเฉียงขึ้นเล็กน้อย ริมฝีปากยืดหดไม่ได้ ฟันด้านในแหลมคม ตามีลักษณะทรงกลม มีตาดำอยู่ตรงกลาง

การแยกเพศปลาหมอไทย
ปลาเพศหมอเมียจะมีขนาดโต และน้ำหนักมากกว่าเพศผู้ และมีความกว้างของลำตัวมากกว่าเพศผู้ ส่วนเพศผู้จะมีลำตัวเรียวยาวกว่าเพศเมีย และความกว้างลำตัวสั้นกว่า

เมื่อถึงฤดูปลามีไข่ ปลาหมอเพศเมียจะมีท้องอูมเป่ง อวัยวะเพศขยายใหญ่ มีสีแดง ส่วนเพศผู้จะไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อจับส่วนโคนหาง (caudal peduncle) ปลาเพศเมียจะหนากว่าปลาเพศผู้

รังไข่ของปลาหมอไทยมีลักษณะบาง มีเป็นคู่ แยกออกเป็นสองพูในช่องท้อง รังไข่ใหม่จะมีสีชมพูแก่ และมีเม็ดไข่สีขาวนวลขนาดเล็ก เมื่อรังไข่แก่จะมีสีเหลือง และมีเส้นเลือดฝอย (ovarian arteries) มาหล่อเลี้ยงจำนวนมาก สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ภายในรังไข่เต็มไปด้วยไข่สีเหลือง มีลักษณะกลม จำนวนมาก  ขนาดไข่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.7 เซนติเมตร ภายในเม็ดไข่มีหยดน้ำมันขนาดใหญ่ และหยดน้ำมันขนาดเล็ก

จำนวนไข่ปลาหมอจะขึ้นกับขนาดเป็นสำคัญ มีการศึกษาจำนวนไข่ของปลาหมอ พบว่า ปลาหมอขนาด 38 กรัม จะมีไข่ประมาณ 2,200 ฟอง ขนาด 100 กรัม จะมีไข่ประมาณ 12,000 ฟองและ ขนาด 145 กรัม จะมีไข่ประมาณ 28,000 ฟอง

ส่วนตัวผู้จะมีถุงน้ำเชื้อ ที่ระยะแรกจะมีสีชมพูใส ต่อมาเมื่อแก่ก็จะมีสีขาวขุ่น แยกเป็นสองพูในช่องท้อง

ขนาดลำตัว และการเติบโตปลาหมอไทย
ปลาหมอไทยโตเต็มวัยที่สามารถสืบพันธุ์ และวางไข่ได้ จะมีอายุประมาณ 5 เดือน หลังจากฟักออกเป็นตัวแล้ว ขนาดความยาวประมาณ 9-10 เซนติเมตร น้ำหนัก 30-40 กรัม

อัตราการเติบโตของปลาหมอไทยจะเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล มีช่วงการเจริญเติบโตดีในฤดูฝนจนถึงต้นฤดูหนาว อัตราการเจริญเติบโตจะสูงมากในช่วงต้นฤดูฝน ในฤดูหนาวอุณหภูมิลดลง การเจริญเติบโตจะช้าหรือหยุดชะงัก และจะเป็นปกติเมื่อพ้นฤดูหนาว

ประโยชน์ และการแปรรูป

ปัจจุบัน ปลาหมอจัดเป็นปลาที่นิยมเลี้ยง และบริโภคกันมากในทุกภาคของไทย เนื่องจากให้เนื้อแน่น เนื้อมีรสมันอร่อยต่างจากปลาชนิดอื่น มีก้างน้อย มักพบปิ้งย่างเกลือขายตามตลาด ร้านอาหาร ริมถนน โดยเฉพาะถนนสายอีสาน และภาคเหนือ นอกจากนั้น ยังนิยมประกอบอาหารหลากหลายเมนู เช่น ต้มยำ แกง และทอด

การแปรรูปปลาหมอนิยมใช้ปลาหมอขนาดเล็กในการทำปลาร้า ส่วนปลาหมอที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาจะแปรรูปตากแห้งหรือทำปลาเค็มสำหรับย่างหรือทอด



การเพาะเลี้ยงปลาหมอไทย
โดยธรรมชาติ ปลาหมอไทยวางไข่ในช่วงฤดูฝนเหมือนปลาอื่นๆ ในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป โดยเฉพาะน้ำใหม่หรือฝนแรก ปลาหมอเพศเมียที่พร้อมจะวางไข่จะมีส่วนท้องอูมเป่ง และนิ่ม เมื่อบีบท้องเบาๆ จะมีไข่กลม สีเหลืองอ่อนออกมา ส่วนเพศผู้จะมีลักษณะปกติ ไม่เปลี่ยนแปลง  ก่อนวางไข่ ปลาเพศผู้จะก่อหวอดที่เคลือบด้วยสารเมือกเกาะติดกันเป็นกลุ่มฟองอากาศ บริเวณก่อหวอดมักเป็นน้ำตื้น มีกอหญ้า ปลาตัวเมียจะเข้าวางไข่ใต้หวอด และตัวผู้ก็จะฉีดน้ำเชื้อเข้าผสม ไข่ปลาหมอจะลอยอยู่ผิวน้ำ ไข่ที่ได้รับการผสมจะมีสีเหลืองอ่อนใส ขนาดประมาณ 0.7-1 มิลลิเมตร และจะพัฒนาการจนฟักออกเป็นตัวอ่อนต่อไป

การกระตุ้นให้วางไข่
1. การเตรียมพ่อแม่พันธุ์
ขั้นแรกให้คัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลาที่มีไข่ และน้ำเชื้อสมบูรณ์ ตัวใหญ่ ไม่มีรอยโรค ต้องให้มีอายุตั้งแต่ 6 เดือน ขึ้นไป น้ำหนักตั้งแต่ 60 กรัมขึ้นไป ตัวเมียท้องอวบอูม เมื่อใช้มือบีบเบาๆ จะมีไข่ลักษณะกลมสีเหลืองออกมา ส่วนปลาตัวผู้ เมื่อบีบบริเวณอวัยวะจะมีน้ำเชื้อสีขาวคล้ายนมออกมา

2. การกระตุ้นให้วางไข่
นิยมทำได้ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เดือนตุลาคมของทุกปี ในบ่อดินหรือบ่อซีเมนต์ ระดับน้ำในบ่อ 30-50 เซ็นติเมตร แต่นิยมทำในบ่อซีเมนต์ เพราะง่ายต่อการดูแล และจัดการ การกระตุ้นจะใช้วิธีการฉีดฮอร์โมนเร่งการวางไข่ให้แก่ตัวเมีย ฮอร์โมนที่ใช้ชื่อ บูเซอรีลิน (buserelin) ชื่อการค้า ซูปรีแฟคท์ (Suprefact) ขนาดความเข้มข้น 15-30 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักแม่ปลา 1 กิโลกรัม และสารระงับระบบการหลั่งฮอร์โมนหรือยาเสริมฤทธิ์ชื่อ โดมเพอริโดน (domperidone) ชื่อการค้า โมลิเลียม-เอ็ม (motilium-M) ขนาด 5-10 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักแม่ปลา 1 กิโลกรัม จำนวน 1 ครั้ง และฉีดฮอร์โมนแก่ปลาเพศผู้อัตรา 5-10 ไมโครกรัม ต่อน้ำหนักพ่อปลา 1 กิโลกรัม เมื่อฉีดกระตุ้นเสร็จให้ปล่อยพ่อแม่ปลาผสมพันธุ์ และวางไข่ในบ่อวางไข่ที่มีกระชังตาห่างซึ่งแขวนอยู่ในบ่อชั้นแรกสำหรับกันพ่อแม่พันธุ์ และมีผ้าโอล่อนแก้วรองรับไข่ปลาอีกชั้นหนึ่ง อัตราปลาเพศเมียต่อปลาเพศผู้ เท่ากับ 1 ต่อ 1 ให้พ่นสเปรย์น้ำ และถ่ายเปลี่ยนน้ำ 8-12 ชั่วโมง เมื่อปลาวางไข่หมดแล้วจึงนำกระชังตาห่าง และพ่อแม่พันธุ์ออก ลูกปลาจะฟักออกเป็นตัวประมาณวันที่ 4-5 หลังการวางไข่ แล้วจึงรวบรวมไปอนุบาลในบ่ออนุบาลต่อไป

การอนุบาลลูกปลาหมอ 
การอนุบาลลูกปลาหมอมักทำในบ่อดินหรือบ่อซีเมนต์ ที่ระดับน้ำ 50 เซนติเมตรหากมีการเพาะเลี้ยงมากจะนิยมอนุบาลในบ่อดิน เพราะมีพื้นที่ต่อปลาเพียงพอ หากใช้บ่อซีเมนต์จะมีค่าใช้จ่ายสูง พื้นที่ต่อลูกปลาไม่เพียงพอ การอนุบาลในบ่อซีเมนต์จะใช้ในกรณีอนุบาลลูกปลาที่มีจำนวนไม่มากเท่านั้น

ลูกปลาที่ฟักออกจากไข่จะมีขนาดยาวประมาณ 1.9 มิลลิเมตร หน้าท้องมีถุงอาหารขนาดใหญ่ที่เป็นอาหารสำรองหลังฟักตัว และจะยุบตัวประมาณ 3 วัน ซึ่งในระยะ 3 วันนี้ ลูกปลาจะยังไม่กินอาหารมาก

การอนุบาลในบ่อดิน ให้หว่านปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 50-100 กิโลกรัม/ไร่ พร้อมผสมปลาป่น และรำละเอียดอย่างละ 3 กิโลกรัม/ไร่ เพื่อช่วยสร้างห่วงโซ่อาหารธรรมชาติ เช่น แพลงก์ตอนสัตว์

ระยะการให้อาหารลูกปลา
1. อายุ 1-3 วัน
– อาหารจากถุงอาหาร

2. อายุ 4-10 วัน
– โรติเฟอร์ ร่วมกับไข่แดงต้มบดผ่านผ้า

3. อายุ 10-27 วัน
– ไรแดง ร่วมกับไข่แดงต้มบดผ่านผ้า

4. อายุ 24-32 วัน
– อาหารสำเร็จรูป โปรตีน 30-35 เปอร์เซ็นต์

5. อายุ 33-78 วัน
– อาหารสำเร็จรูป โปรตีน 30-35 เปอร์เซ็นต์

เมื่ออนุบาลลูกปลาได้ 3 สัปดาห์ ให้ค่อยๆเพิ่มระดับน้ำเป็น 80 เซนติเมตร ควรตรวจสอบโรตีเฟอร์ และไรแดงในบ่อ รวมถึงตรวจดูสุขภาพลูกปลา และการเจริญเติบโตทุกวัน บ่อที่อนุบาลควรทำหลังคาป้องกันแสงแดด และใส่ผักบุ้งหรือพันธุ์ไม้น้ำในกระชัง ปลาที่สามารถนำไปปล่อยเลี้ยงได้จะมีขนาดประมาณ 2-3 เซนติเมตร (อายุ 20-30 วัน หรือ 1-2 เดือน) หรือที่มักเรียกทั่วไปว่า ปลาขนาดใบมะขาม



การเลี้ยงในบ่อดิน

เมื่อลูกปลาได้ขนาด จะทำการปล่อยลงเลี้ยงในบ่อ อัตราเลี้ยงที่เหมาะสม 30-50 ตัว/ตารางเมตร หรือ 40,000-80,000 ตัว/ไร่ ส่วนวิธีปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาให้ผสมพันธุ์ และวางไข่ในบ่อเลี้ยงเลย อัตราพ่อแม่พันธุ์ประมาณ 25-50 คู่/ไร่ จะได้ลูกประมาณ 50,000-100,000 ตัว/ไร่

สำหรับเกษตรกรไม่มีความเรื่องการเพราะพันธุ์ปลา อาจหาซื้อลูกปลาตามฟาร์มหรือโรงเพาะพันธุ์ ขนาด 2-3 นิ้ว (อายุ 60-75 วัน หรือ 2-3 เดือน) อัตราการปล่อยประมาณ 25 ตัว/ตารางเมตร หรือ 40,000 ตัว/ไร่ บ่อที่ใช้เลี้ยงควรขึงด้วยผ้าเขียวรอบบ่อ เพื่อป้องกันศัตรูของปลาหรือปลาปีนป่ายออกนอกบ่อ โดยเฉพาะเวลาฝนตก และอาจติดตั้งระบบการเพิ่มออกซิเจนหากคุณภาพน้ำมีปัญหา

อาหาร และการให้อาหาร
อาหารปลาหมอในระยะเลี้ยงดูในบ่อดิน ในระยะ 1-2 เดือน จะใช้อาหารสำเร็จรูปที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ระยะ 2-3 เดือน ขึ้นไป อาหารสำเร็จรูปที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 หรืออาหารเม็ดปลาดุกเล็ก ร่วมกับอาหารเสริมอื่นๆ เช่น ไรแดง ปลวก รำข้าว เป็นต้น ระยะเวลาในการเลี้ยงที่เริ่มจับขายได้ 90-120 วัน หรือประมาณ 4-5 เดือน



โรคที่พบในปลาหมอไทย

โรคปลาหมอไทยที่พบบ่อย ดังนี้
1. โรคตกเลือดซอกเกล็ด
เกิดจากเชื้อปรสิตเซลล์เดียว (Epistylissp.) ที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มร่วมกับเชื้อแบคทีเรีย ปลาหมอที่เป็นโรคนี้จะมีอาการเกิดแผลสีแดงเป็นจ้ำๆ ตามลำตัว พบมากบริเวณครีบ และซอกเกล็ด หากเป็นมากจะทำให้เกล็ดหลุดหรือติดเชื้อราร่วมด้วยจนเป็นโรคเกล็ดพองได้

2. โรคเกล็ดพอง
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ปลาหมอที่เป็นโรคนี้จะมีอาการเกล็ดพองตามลำตัว หรือเกล็ดตั้งอ้าออก มีอาการตกเลือดตามฐานซอกเกล็ด ร่วมด้วยกับลำตัวบวมโต

3.โรคแผลตามลำตัว
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เข้าทำลายเม็ดเลือดแดง ปลาหมอที่เป็นโรคนี้จะมีอาการเกล็ดหลุด และผิวหนังเปื่อยลึกมองเห็นเนื้อด้านใน แผลมีการกระจายทั่วลำตัว และมักพบการติดเชื้อราร่วมด้วย เช่น โรคอิพิซู โอติด อัลเซอร์เรทีพ ซินโดรม (Epizootic Ulcerative Syndrome) ที่พบแผลมีเส้นใยของเชื้อราฝังอยู่

4.โรคจุดขาว
เกิดจากเชื้อโปรโตซัว (Ichthyophthirius inultifilis) เข้ากัดกินเซลล์ผิวหนัง  ปลาหมอที่เป็นโรคนี้จะมีอาการปรากฏจุดขาวขุ่น ขนาดเท่าหัวเข็มหมุดบริเวณลำตัว และครีบ
ใหม่กว่า เก่ากว่า

نموذج الاتصال